โครงการสัมมนาทางวิชาการเกาหลีศึกษา
หัวข้อ “กิมจิในหลากหลายมิติ : มากกว่าความเป็นอาหาร”
จัดโดย ศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้วยการสนับสนุนจาก ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย
วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน 2557 เวลา 13.00 – 16.30 น.
ณ ห้องสัมมนา 3  สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
          ในยุคปัจจุบันหากเอ่ยถึงทวีปเอเชีย ทุกคนจะนึกถึงประเทศสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ ในอันดับต้นๆ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามมายาวนาน ไม่ว่าการเคยตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น 35 ปี และเคยตกอยู่ใต้การปกครองของจีน มองโกเลีย หรือแม้แต่ปัญหาสงครามภายในประเทศ เมื่อผ่านพ้นภาวะสงครามความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศยากจนข้นแค้น ด้วยสภาพการดำรงชีวิตที่ผ่านพบ ทำให้ชาวเกาหลีตระหนักถึงความยากลำบากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น และสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ต่างๆเหล่านี้สอนให้คนเกาหลีเป็นคนขยันหมั่นเพียร เพื่อที่จะเอาชนะความยากลำบาก ชาวเกาหลีจะมีนิสัยพูดเสียงดัง เนื่องจากว่าการพูดเสียงดังแสดงถึงพลังและอำนาจ และความเข้มแข็ง ขณะสนทนากับชาวเกาหลี แม้ว่าจะอยู่ใกล้กันแต่เขาจะพูดเสียงดัง ทำให้ชาวต่างชาติรู้สึกเหมือนตะคอก หรือตะโกน แต่หากถามชาวเกาหลีแล้ว การพูดเสียงดังเช่นนั้นเป็นเรื่องปกติ ชาวเกาหลีจะเอาใจใส่กับงานที่ตนเองทำหรือรับผิดชอบ จะเอาจริงเอาจังกับงาน เนื่องจากสภาพที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นทำให้เขากระทำทุกอย่างด้วยความเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว ทุกอย่างต้องเร็วหมด หากมองนิสัยของชาวเกาหลีในด้านดีคือ มีความบากบั่น ขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ มั่นคง เคารพบรรพบุรุษ เป็นคนช่างคิด รักในการเรียน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ มีความกตัญญู ความเป็นชาตินิยมสูง  ส่วนข้อเสียของชาวเกาหลี คือ ยึดตัวเองเป็นหลักมากเกินไป แบ่งพรรคแบ่งพวก การเอาชนะผู้อื่น ขาดเหตุผล มองโลกในแง่ร้าย มักไม่ไว้ใจคนอื่น มีข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวตลอดเวลา และด้วยลักษณะนิสัยดังกล่าวนี้เอง เป็นส่วนที่ทำให้ประเทศเกาหลีกลายเป็นประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน
             ส่วนอาหารของชาวเกาหลีที่เป็นอาหารหลักคือ ข้าว เช่นเดียวกับคนไทย แต่ลักษณะของกับข้าวนั้นแตกต่างกัน ส่วนรสชาติอาหารของเกาหลีนั้น จะมีความเผ็ดน้อยกว่าของไทย ทำให้ชาวไทยคิดว่าชาวเกาหลีรับประทานอาหารรสไม่จัด ชาวเกาหลีจะปลูกฝังให้ลูกหลานรับประทานผักมากกว่าเนื้อ สำหรับอาหารที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของคนเกาหลี คือ กิมจิ เป็นพวกผักดอง โดยใส่เครื่องปรุงรสลงไป ทุกครั้งที่รับประทานอาหาร กิมจิจะต้องปรากฏบนโต๊ะอาหาร หากขาดกิมจิอาหารมื้อนั้นก็จะขาดรสชาติไปเลย หากบ้านไหนหรือร้านไหนทำกิมจิ อร่อย ถือว่าบ้านนั้นทำกับข้าวได้อร่อยด้วย อาหารเกาหลีในแต่ละภูมิภาคนั้น จะมีรสชาติที่แตกต่างกัน จังหวัดชอลลาโด ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่อาหารอร่อยที่สุด อาหารที่ขึ้นชื่อได้แก่ พิบิมบับ (ข้าวยำ) คงนามูลกุกบับ (ข้าวต้มถั่วงอก) นอกจากนี้ยังมีอาหารชุด ซึ่งมีกับข้าวมากกว่า 20 ชนิด (ฮันจองชิก)
            ชาวเกาหลีไม่นิยมนั่งรับประทานอาหารที่โต๊ะ แต่จะนั่งบนพื้นและมีโต๊ะสำหรับวางอาหาร (พับซัง) มีถ้วยซุปซึ่งวางทางด้านขวาของข้าวและมีช้อนกับตะเกียบวางอยู่ ชาวเกาหลีใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหารซึ่งเป็นตะเกียบเหล็ก บนโต๊ะกับข้าว อาจมีหม้อแกงใหญ่วางอยู่ ซึ่งทุกคนใช้ตะเกียบหรือช้อนของตนเองตักอาหาร ไม่ใช้ช้อนกลาง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และปรองดองกันได้เป็นอย่างดี มารยาทอย่างหนึ่งของการรับประทานอาหารคือ คนที่อาวุโสที่สุด ณ ที่นั้น จะเป็นผู้ที่จับช้อน ตะเกียบตักอาหารก่อน หลังจากนั้น ผู้น้อยจึงจะสามารถรับประทานอาหารได้ และเราจะต้องรับประทานอาหารที่ตักมาให้หมด หากรับประทานไม่หมดถือว่าอาหารนั้นไม่อร่อย
          สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  (ยูเนสโก) ประกาศให้กระบวนการทำ "กิมจิ" (Kimchi) อาหารประจำชาติของเกาหลีใต้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ การประกาศของยูเนสโก  ทำให้เกาหลีใต้ไม่เพียงแต่จะรักษาวัฒนธรรมกิมจิต่อไปเท่านั้น แต่ยังประชาสัมพันธ์การทำกิมจิ หรือกิมจาง ให้ชาวโลกได้รู้จักกันมากขึ้นด้วย
           กิมจิ อาหารประจำชาติเกาหลีมีชื่อเสียงและโด่งดังไปทั่วโลก เป็นอาหารที่คนเกาหลี ชื่นชอบ และโปรดปรานเป็นที่สุด จนถึงขนาดที่จัดให้เป็นวาระระดับชาติ คือ เทศกาลกิมจิ จัดประจำทุกปี  กิมจิ จุดเริ่มต้นของผักดองเกลือเพื่อเก็บไว้กินยามขาดแคลนในช่วงฤดูหนาวของชาวเกาหลี  แต่ในปัจจุบันกิมจิไม่ได้เป็นเพียงแค่ เครื่องเคียงบนโต้ะอาหาร แต่ได้วิวัฒนาการ ปรับปรุงให้เข้า กับยุคสมัย จนเกิดเป็นเมนูใหม่อีกกว่า 300 เมนู ทำให้เห็น ความหลากหลายของผักดองอันเลืองชื่อ และทำให้เราได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว กิมจิไม่ได้มีเพียงแค่ ผักกาดขาวสีแดงรสเปรี้ยวเผ็ดแต่เพียงอย่างเดียว  แต่ไม่ว่าจะเป็นผักอะไรก็สามารถนำมาทำเป็น กิมจิได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบของแต่ละท้องถิ่น และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กิมจิมีรสชาติแตกต่าง กันไปตามแต่ละท้องถิ่นด้วย
           ความผูกพันระหว่างกิมจิ และคนเกาหลีสัมผัสได้อย่างลึกซึ้ง สำหรับคนเกาหลีแล้ว กิมจิไม่ได้เป็นเพียงแค่อาหารจานหนึ่ง เท่านั้น แต่กิมจิยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และเป็นสิ่งบอกเล่าเรื่องราว ให้คนทั่วโลกได้รับรู้ และสัมผัสถึงตัวตนของคนเกาหลีได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ศาสตร์และศิลป์ เช่นมิติทางการแพทย์ คุณค่าทางเศรษฐกิจ และ วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ด้วยเหตุดังกล่าว ศูนย์เกาหลีศึกษา ร่วมกับ ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีแห่งประเทศไทย จึงเห็นสมควรนำเสนอมุมมองกิมจิในแง่มุมต่างๆ เช่นในแง่มุมทางการแพทย์ ทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และในวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของคนเกาหลี โดยการจัดสัมมนาและการสาธิตการทำกิมจิ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวเกาหลี

วัตถุประสงค์

1. เพื่อนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับกิมจิ อาหารประจำชาติของเกาหลีในแง่มุมต่างๆ เช่น ทางการแพทย์  ทางเศรษฐกิจ และสังคม วัฒนธรรม
2. เพื่อนำเสนอองค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์การทำกิมจิโดยหน่วยงานของรัฐบาลเกาหลี
3. เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้เรียนรู้คุณค่าทางโภชนาการ ทางเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมของกิมจิ อาหารประจำชาติของเกาหลี อย่างมีนัยยะสำคัญ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
 

 

กำหนดการ
12.30 - 13.00 น.       ลงทะเบียน
13.00 - 13.15 น.       พิธีเปิดงานสัมมนา
                                    -  กล่าวรายงาน
                                        รองศาสตราจารย์ ดร.นภดล  ชาติประเสริฐ
                                        ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ.
                                     - กล่าวต้อนรับ
                                        Mr. Lee  Jun – Ho, Director, Korean Cultural Center
                                     - กล่าวเปิดงาน
                                        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา
13.15 - 15.15 น.        กิมจิในหลากหลายมิติ : มากกว่าความเป็นอาหาร
                                     -  กิมจิในมิติทางสังคมและประวัติศาสตร์
                                         คุณ เชว์  มุน ลี นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.
                                     - กิมจิในฐานะเป็นอาหารโภชนาการสูงและเป็นยา                                      
                                         Mrs. Kim Soon Ja, President, Kim Chi Association of  Korea
                                     - กิมจิในมิติระหว่างประเทศ
                                        ดร.ไพบูลย์  ปีตะเสน ประธานโครงการภาษาเอเชียตะวันออก สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ.
15.15 - 15.30 น.          ถาม – ตอบ
15.30 - 16.30 น.          สาธิตและบรรยายการทำกิมจิโดยหน่วยงานของรัฐบาลเกาหลี
16.30 น.                       ปิดการสัมมนา
                                      ผู้ดำเนินรายการ :  รองศาสตราจารย์ ดร.นภดล  ชาติประเสริฐ ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา  
สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา
 

                              ใบตอบรับเข้าร่วมงาน

 
 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์รังสิต โทร.0-2564-5000-3 ต่อ 323  โทรสาร 0-2564-4888    http://www.asia.tu.ac.th