English

Map

Link

Service

Web Board

E-Mail

Change Password

   

 


 

 

   
 

ปีงบประมาณ 2537

 

ชื่อโครงการวิจัยเรื่อง              ศาสนาและลัทธิความเชื่อของชาวจีน : การรวมศาสนาพุทธ เต๋า และขงจื๊อ

ชื่อผู้ทำวิจัย                            รศ.ดร.สุรชัย   ศิริไกร

ปีที่แล้วเสร็จ                          จำนวนหน้า    67    หน้า

 

บทคัดย่อภาษาไทย

 

          ศาสนาพุทธ ขงจื๊อและเต๋า นั้นมีหลักธรรมที่แตกต่างกันมากหลายประการ ที่คล้ายคลึงกันนั้นมีน้อยและมักไม่เป็นที่รู้จัก ท่านพระสังฆปรินายกองค์ที่ 6 เหวยหล่าง ของนิกายฌานของจีนได้กล่าวถึงความแตกต่างของหลักธรรมของสามศาสนาโดยสรุปได้อย่างน่าฟังว่า “ขงจื๊ออยากอยู่ เต๋าไม่อยากตาย พุทธไม่อยากเกิด” กล่าวคือ ท่านขงจื๊อซึ่งเป็นศาสดาของลัทธิขงจื๊อ มุ่งสอนแต่โลกีย์ธรรม เพื่อที่จะให้มนุษย์ที่เกิดมาแล้วในโลกนี้จะมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข มีคุณธรรมและสังคมมีสันติสุข หลักคุณธรรมของขงจื๊อที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับและเป็นคุณธรรมพื้นฐานของสังคมจีนมาเป็นเวลาช้านานกว่าสองพันปีคือ คุณธรรม 8 ประการ ประกอบด้วย (เหา) ความกตัญญูกตเวทิคุณต่อบิดามารดาและผู้มีพระคุณ  (ตี้) ความเคารพรักใคร่ปรองดองระหว่างญาติมิตรพี่น้อง (จง) ความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อผู้ปกครอง (ซิ่น) ความสัจจวาจา (หวี่) ความมีมารยาท (อี้) ความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ (เนี้ยน) ความบริสุทธิ์กายและใจ และ (ฉี) มีหิริโอตตัปปะ ส่วนศาสนาเต๋าที่ว่าไม่อยากตายนั้นท่านเหลาจื๊อศาสดาของลัทธิเต๋าได้มองเห็นว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ และชีวิตที่ทุกข์และสุขนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วประเดี๋ยวเดียว แล้วก็ผ่านไปเหมือนฝัน ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน และไม่มีมนุษย์คนใดหนีพ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ชีวิตมนุษย์ช่วงสั้นและร่างกายไม่ทนทาน แต่ถ้ามนุษย์อยากมีชีวิตที่เป็นอมตะยืนยาวคู่ฟ้าดิน มนุษย์ต้องละทิ้งโลกีย์วิสัย เจริญสมาธิและฝึกจิตและพลังลมปราณในร่างกาย จะทำให้มีชีวิตยืนยาว หรือถ้าฝึกจิตสำเร็จเต๋าเป็นเทพหรือเซียนก็มีจิตที่เป็นอมตะอยู่ร่วมกับพลังของฟ้าและดินได้ และประการสุดท้ายที่กล่าวว่า “พุทธไม่อยากเกิด” นั้น เพราะสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่ามนุษย์ล้วนตกอยู่ในกระแสของวิบากกรรมในวัฎสงสารซึ่งเป็นทุกข์ การเกิดเป็นทุกข์ การจะหลุดพ้นจากทุกข์ได้มีวิธีเดียวคือการหมดกิเลสหลุดพ้นจากวัฎสงสารจึงจะไม่เกิดอีก ฉะนั้น “พุทธจึงไม่อยากเกิด” ทั้งนี้เพราะสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา

          ดังนั้น ถ้าพิจารณาหลักธรรมของสามศาสนานี้แล้ว ศาสนาพุทธมีหลักธรรมที่คล้ายคลึงกับศาสนาเต๋ามากกว่าศาสนาขงจื๊อ แต่เมื่อพุทธศาสนาแพร่หลายเข้าไปในประเทศจีน ชาวจีนในระยะแรกเริ่มก็มองว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนต่างชาติไม่เหมาะสมกับชาวจีน และชาวจีนก็มีศาสนาของตนอยู่แล้วคือ ศาสนาขงจื๊อและเต๋า จึงไม่จำเป็นต้องรับเอาศาสนาของคนต่างชาติจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งอิทธิพลกันขึ้นในราชสำนักระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาขงจื๊อและเต๋าอยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์จีนที่ผ่านมา แต่พุทธศาสนามีข้อได้เปรียบตรงที่หลักธรรมมีความละเอียดลึกซึ้งและครอบคลุมกว้างขวางมากกว่าหลักปรัชญาของศาสนาขงจื๊อ และเต๋า จึงเป็นที่ยอมรับของประชาชนจีนอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่องค์จักรพรรดิ์ ข้าราชการ บัณฑิต พ่อค้า และเกษตรกร แต่พุทธศาสนาก็ถูกต่อต้านโดยนักพรตเต๋าและข้าราชการลัทธิขงจื๊อบางกลุ่มที่มองเห็นว่าพุทธศาสนาอาจเป็นภัยต่อวัฒนธรรมจีน และอำนาจของจักรพรรดิ์ การผสมผสานระหว่างปรัชญาของศาสนาพุทธกับเต๋าและกับวัฒนธรรมและอุปนิสัยของชาวจีนทำให้เกิดพุทธศาสนานิกายใหม่ๆ ขึ้นในประเทศจีน ในขณะเดียวกันผู้นำศาสนาเต๋าและขงจื๊อก็รับเอาปรัชญาพุทธศาสนาไปปรับปรุงคำสอนศาสนาของตน ทำให้เกิดการปฏิรูปของศาสนาเต๋าและขงจื๊อด้วย การผสมผสานและการปฏิรูปของศาสนาทั้งสามทำให้หลักธรรมของทั้งสามศาสนามีความคล้ายคลังกันมากขึ้น และเกิดขบวนการรวมสามศาสนาเข้าด้วยกันในยุคราชวงศ์ซ่งและหมิง ชาวจีนส่วนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนในภาคใต้จึงเคารพนับถือศาสนาพุทธ เต๋าและขงจื๊อรวมกันโดยไม่มีความรังเกียจมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งชาวจีนโพ้นทะเลต่างๆ ที่ส่วนใหญ่อพยพจากภาคใต้ของประเทศจีนสู่ประเทศเอเชียอาคเนย์และประเทศอื่นๆ

          งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาประวัติความเป็นมาของการรวมศาสนาพุทธ เต๋าและขงจื๊อในประเทศจีน โดยการค้นคว้าประวัติศาสตร์ศาสนา ศึกษาคัมภีร์และหลักคำสอนของทั้งสามศาสนาและงานวิจัยต่างๆ ของนักวิชาการในเชิงประวัติศาสตร์และคุณภาพ เพื่อให้ทราบว่าสามศาสนามีการปฏิรูปและผสมผสานปรัชญาของแต่ละศาสนาอย่างไรบ้าง รวมทั้งปัจจัยทางด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละยุคสมัยที่มีอิทธิพลต่อการรวมสามศาสนาด้วยจากยุคราชวงศ์ถังถึงหมิง

 

 

                                 

 

หน่วยบริการวิจัย  สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 99 หมู่ 18 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12121

โทร. 0-2564-5000-3 โทรสาร 0-25645-4888 E-mail:ieas@asia.tu.ac.th