English

Map

Link

Service

Web Board

E-Mail

Change Password

   

 


 

 

   
 

ปีงบประมาณ 2535

 

ชื่อโครงการวิจัย              ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวเกาหลี

ผู้ทำวิจัย                         ผศ.ดร.นภดล  ชาติประเสริฐ

จำนวนหน้า                     81 หน้า

 

บทคัดย่อภาษาไทย

 

            เกาหลีเป็นชาติที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน แม้ว่ากระแสของอารยธรรมภายนอกจะได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่ออารยธรรมเกาหลี แต่เกาหลีก็ได้มีการปรับปรุงจนมีรูปแบบอารยธรรมที่มีลักษณะเป็นของตนเอง ซึ่งรากฐานต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดประเพณีต่างๆ มากมายซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิตของชาวเกาหลี ในการนี้ มีปัจจัยต่างๆ หลายประการซึ่งมีผลต่อประเพณีต่างๆ ของเกาหลี ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อการเกิดประเพณีต่างๆ ของเกาหลี ฤดูกาลต่างๆ ทั้ง 4 ฤดูที่เปลี่ยนแปลงไปและแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งกับวิถีชีวิตของชาวเกาหลี รวมทั้งเป็นตัวแปรที่ก่อให้เกิดประเพณีต่างๆ มากมาย นอกจากนั้น การที่เกาหลีมีที่ตั้งที่ค่อนข้างใกล้กับจีน ซึ่งเป็นอู่อารยธรรมสำคัญของโลกมีผลทำให้กระแสวัฒนธรรมของจีนหลั่งไหลเข้าสู่เกาหลีอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาในแง่ยุทธศาสตร์แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเกาหลีมีที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งมีผลทำให้เกาหลีถูกรุกรานจากเพื่อนบ้านซึ่งมีศักยภาพทางอำนาจแข็งแกร่งกว่าอยู่เสมอ ดังนั้น การได้รับอารยธรรมจีนจึงมีทั้งการรับเข้ามาโดยความสมัครใจและการรับเข้ามาอันเป็นผลจากการถูกรุกราน นอกจากนั้น การถูกรุกรานต่างๆ ดังกล่าวก็มีผลทำให้ชาวเกาหลีรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นในการที่จะรักษาเอกราชของตนไว้ ซึ่งสะท้อนออกมาในประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับวีรบุรุษของชาติ

            ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเกิดประเพณีต่างๆ ในเกาหลี การที่ชาวเกาหลีในสมัยโบราณดำรงชีวิตที่เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการเกษตรกรรมทำให้เกิดประเพณีต่างๆ มากมายที่เกี่ยวไร่นารวมทั้งการประมง ในการนี้ การที่เกาหลีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นเกาหลีใต้ได้มีการพัฒนาเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวเกาหลีใต้จากสังคมชนบทมาสู่สังคมเมืองมากขึ้นตามลำดับมีผลทำให้ประเพณีหลายอย่างของเกาหลี ซึ่งมีรากฐานที่ผูกพันกับวิถีชีวิตแบบชนบทลดความสำคัญลง  ในขณะที่ประเพณีหลายประการที่ยังได้รับการดำรงรักษาไว้ในสังคมของเกาหลีใต้ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น

            ปัจจัยทางการเมืองก็นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญไม่น้อยกว่าปัจจัยอื่นๆ การที่เกาหลีมีการ    ปกครองในลักษณะอำนาจนิยมอย่างค่อนข้างเข้มงวดมาอย่างยาวนาน ทำให้ประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันจากผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งในหลายครั้งผู้ปกครองก็ปกครองประเทศอย่างไม่เป็นธรรม ความคับข้องใจเหล่านี้ได้สะท้อนออกมาในประเพณีต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสียดสีและประชดประชันผู้มีอำนาจทางการเมือง

           ปัจจัยทางความเชื่อและศาสนานั้นนับได้ว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อวิถีชีวิตของชาวเกาหลี ซึ่งประเพณีต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่มีพัฒนาการมาในบริบทของความเชื่อทางศาสนาทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธและลัทธิขงจื๊อนั้นมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อประเพณีต่างๆ ของชาวเกาหลี ดังจะเห็นได้จากประเพณีที่มีความสัมพันธ์กับวันสำคัญทางศาสนา นอกจากนั้น ศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวเกาหลีก็มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อรากฐานของประเพณีต่างๆ

            ปัจจัยทางสังคมนั้น มีบทบาทเป็นอย่างมากต่อประเพณีต่างๆ ของชาวเกาหลี การที่เกาหลีเป็นสังคมที่เน้นการให้ความสำคัญแก่ครอบครัวนั้น ทำให้เกิดประเพณีต่างๆ มากมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบในครอบครัว ซึ่งรวมถึงความกตัญญู และการเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส นอกจากนั้นการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจนในสังคมเกาหลีในอดีต ก็ได้สะท้อนออกมาในประเพณีและเทศกาลต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นปัญหาอุปสรรคและความไม่เป็นธรรมต่างๆ อันเกิดขึ้นมาจากการแบ่งแยกชนชั้นดังกล่าว

            ในการนี้ ประเพณีต่างๆ ของชาวเกาหลีนั้น แบ่งออกได้เป็นสองลักษณะได้แก่ ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับช่วงต่างๆ ในชีวิตของแต่ละคนและประเพณีซึ่งมีเป็นประจำในแต่ละช่วงเวลาของปีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงชีวิตในทัศนะของชาวเกาหลีนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับสถานภาพของคนๆ นั้น รวมทั้งความเกี่ยวพันทางสังคมระหว่างคนๆ นั้นกับผู้อื่น การเปลี่ยนแปลงซึ่งชาวเกาหลีให้ความสำคัญมาตั้งแต่อดีตได้แก่ การเปลี่ยนวัยจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ การแต่งงานและการเสียชีวิต ซึ่งชาวเกาหลีเรียกการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้รวมกันว่า “Kwanhon sangje” พิธีกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงชีวิตดังกล่าวนี้ ตามความเชื่อของลัทธิขงจื๊อแล้วถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรับผิดชอบของ       แต่ละบุคคลต่อสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไป การแต่งงานนั้นถือเสมือนกับการร่วมสร้างรากฐานให้กับสังคมในฐานะที่ครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม งานศพนั้นถือเป็นการแสดงความเคารพและความผูกพันของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีต่อผู้เสียชีวิตรวมทั้งเป็นการให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ที่อยู่ เบื้องหลังสามารถผ่านวิกฤตการณ์ของชีวิตในแต่ละครั้งไปได้ ส่วนพิธีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษนั้น นอกจากจะเป็นการแสดงความกตัญญูแล้ว ยังเป็นโอกาสสร้างความสมานฉันท์และความใกล้ชิดในหมู่ญาติพี่น้องอีกด้วย

            นอกจากประเพณีที่เกี่ยวกับวงจรชีวิตแล้ว ยังมีประเพณีต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากซึ่งยังคงถือปฏิบัติกันอยู่ในแต่ละช่วงเวลาของปี ซึ่งบางประเพณีก็เป็นประเพณีในระดับชาติ แต่บางประเพณีก็เป็นประเพณีในระดับท้องถิ่นเท่านั้น ประเพณีต่างๆ เหล่านี้มักถือเวลาตามการคำนวนแบบจันทรคติเป็นหลัก ซึ่งส่วนมากแล้วมักจะเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลต่างๆ

 

 

                                 

 

หน่วยบริการวิจัย  สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 99 หมู่ 18 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12121

โทร. 0-2564-5000-3 โทรสาร 0-25645-4888 E-mail:ieas@asia.tu.ac.th