English

Map

Link

Service

Web Board

E-Mail

Change Password

   

 


 

 

   
 

ปีงบประมาณ 2530

 

ชื่อโครงการวิจัย              การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบและแนวทางของการพัฒนาชนบทแห่งชาติในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี

ผู้ทำวิจัย                        รศ.ชอบ  เข็มกลัด

จำนวนหน้า                    131   หน้า                                

 

 บทคัดย่อภาษาไทย

 

            การวิจัยเอกสารเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบและแนวทางของการพัฒนาชนบทแห่งชาติในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี” นี้ เป็นการวิจัยเพื่อเปรียบเทียบแนวคิด/ปรัชญา หลักการ แนวทาง/กลยุทธ ตลอดจนการจัดโครงสร้างการบริหารงานระหว่างแผนพัฒนาชนบทยากจนของไทยกับขบวนการเซมาเอิล อุนดอง ของเกาหลีใต้ ทั้งในประเด็นที่คล้ายกันและแตกต่างกัน

            ทั้งนี้เพราะจากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากสื่อมวลชนประเภทต่างๆ มักจะเปรียบเทียบและชี้ให้เห็นว่า เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศมากกว่าประเทศไทย จนสามารถนำไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) ได้

            แต่การวิจัยครั้งนี้ ละเว้นที่จะไม่ขอกล่าวหรือวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงผลของการพัฒนา (output) ที่ดำเนินการตามแผนพัฒนาทั้งสองดังกล่าว เพราะอาจไม่เป็นธรรมสำหรับประเทศไทยได้ด้วยเหตุผลที่ว่าแผนพัฒนาชนบทยากจนได้ถูกนำมาใช้หลังจากที่ขบวนการเซมาเอิล อุนดอง ดำเนินการมาแล้วถึง 10 ปี

            ผลจากการวิจัยเปรียบเทียบครั้งนี้พบว่า

1. แนวคิด/ปรัชญา : แผนพัฒนาทั้งสอง ต่างให้ความสำคัญกับตัวคนเป็นหลัก แต่แผนพัฒนาชนบทบากจนมุ่งให้คนในชนบทได้รับทรัพยากรและผลของการพัฒนาอย่างทั่วถึง และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต่างกับขบวนการเซมาเอิล อุนดอง ที่ต้องการให้คนมีความขยันช่วยตัวเอง และร่วมมือกัน ซึ่งเน้นในเรื่องจิตตารมณ์ (Spirit) ของคน ก่อนที่จะให้คนปรับปรุงทางด้านกายภาพ

2. หลักการ : แผนพัฒนาทั้งสองยึดพื้นที่เป็นหลักในการดำเนินงาน แต่แผนพัฒนาชนบทยากจนแบ่งพื้นที่เป็น 2 ประเภท และให้ความสำคัญกับพื้นที่ยากจนหนาแน่นก่อน ส่วนขบวนการเซมาอิล อุนดอง ให้ความสำคัญกับพื้นที่ทั้ง 3 ระดับพอๆ กัน เพียงแต่กำหนดกิจกรรมการพัฒนาแตกต่างกันในแต่ละระดับ

3. แนวทาง/กลยุทธ : แผนพัฒนาชนบทยากจนกำหนดพื้นที่เป็นเป้าหมาย (target area) เพราะการปฏิบัติจริงไม่ได้แยกกลุ่มคนจนในพื้นที่ยากจนให้เห็นชัดเจน แต่ขบวนการเซามาเอิล อุนดอง กำหนดให้คนหรือกลุ่มคนเป็นเป้าหมาย (target group) และใช้พื้นที่เป็นกลยุทธ (Strategies) ในการทำงาน

4. เกณฑ์กำหนดพื้นที่ : แผนพัฒนาชนบทยากจนใช้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ สังคม (socio-economic indicators) เพื่อจัดแบ่งพื้นที่หมู่บ้านตามระดับความรุนแรงของปัญหา แต่ขบวนการเซมาเอิล อุนดอง พิจารณาจากศักยภาพของประชาชน โดยใช้วิธีการทดสอบด้วยการแจกปูนซีเมนต์และเหล็กเส้น เพื่อใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัย เป็นต้น

5. การมีส่วนร่วม แผนพัฒนาทั้งสองเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมเลือกโครงการตามที่ตนเองต้องการภายใต้กรอบโครงการที่รัฐบาลกำหนด และจูงใจ ให้ประชาชนเข้าร่วมด้วยการจัดประกวดหมู่บ้านและให้รางวัล ทั้งที่เป็นตัวเงินสดและวัสดุสิ่งของ

6. โครงสร้างองค์กร : แผนพัฒนาทั้งสองมีการจัดโครงสร้างองค์กรรับผิดชอบ 5 ระดับ ตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับหมู่บ้าน จะแตกต่างกันเฉพาะคณะกรรมการในองค์กรแต่ละระดับ กล่าวคือ แผนพัฒนาชนบทยากจนองค์กรแต่ละระดับมีกรรมการมากกว่า 1 ชุด ยกเว้นระดับอำเภอและระดับหมู่บ้านที่มีเพียงระดับละ 1 ชุด    แต่ขบวนการเซมาเอิล อุนดอง องค์กรแต่ละระดับมีกรรมการเพียง 1 ชุด เท่านั้น ยกเว้นระดับหมู่บ้านที่มี 2 ชุด

7. การประสานงาน     แผนพัฒนาชนบทยากจน         มีการประสานงานทั้งในแนวตั้งระหว่างองค์กรทั้ง 5 ระดับ (vertical coordination) และแนวนอนระหว่างองค์กรในระดับเดียวกัน (horizontal coordination) ซึ่งค่อนข้างสลับซับซ้อนและยุ่งยากมากกว่าการประสานงานของขบวนการเซมาเอิล อุนดอง ที่ให้ความสำคัญกับการประสานงานในแนวตั้ง

8. อำนาจการตัดสินใจ : แผนพัฒนาชนบทยากจน ให้ความสำคัญกับองค์กรระดับจังหวัดในการจัดทำแผนตามกรอบโครงการที่เสนอให้ประชาชนเลือกแต่ละจังหวัดจะต้องเสนอส่วนกลางเพื่อขออนุมัติทั้งโครงการและงบประมาณ แต่ขบวนการเซมาเอิล อุนดอง กระจายอำนาจให้องค์กรระดับอำเภอตัดสินใจอนุมัติโครงการและงบประมาณได้

9. วิธีการ : รัฐบาลไทยนำแผนพัฒนาชนบทยากจนมาใช้ในฐานะที่เป็นโครงการ (program approach0 เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่เกาหลีใต้นำขบวนการเซมาเอิล อุนดอง มาใช้ในฐานะที่เป็นขบวนการ (movement) เพื่อปลุกเร้าจิตสำนึกและปลูกฝังอุดมการณ์ โดยใช้โครงการ/กิจกรรมเป็นสื่อ (means) ด้วยวิธีการให้เข้าอบรมในศูนย์ฝึกอบรมผู้นำ

10. ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนา :

            ความเอาจริงเอาจังของผู้นำ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่นานพอที่จะทำให้ผู้นำ

สามารถกำหนดนโยบายการพัฒนาและดำเนินการตามนโยบายอย่างต่อเนื่องได้

เงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติ เช่น ภาวะสงครามในเกาหลีใต้หรือการปฏิรูปที่ดิน ก่อนที่จะนำเอาขบวนการเซมาเอิล อุนดอง มาใช้

นอกจากนี้ อุปนิสัยของคนในชาติในเรื่องของความขบขัน ความอดทน ความมีระเบียบวินัย ฯลฯ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการดำเนินงานพัฒนาให้บรรลุเป้าหมาย

ปัจจัยต่างๆ ตามที่กล่าวมา ค่อนข้างมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี

 

 

                                 

 

หน่วยบริการวิจัย  สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 99 หมู่ 18 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12121

โทร. 0-2564-5000-3 โทรสาร 0-25645-4888 E-mail:ieas@asia.tu.ac.th