English

Map

Link

Service

Web Board

E-Mail

Change Password

   

 


 

 

   
 

บทคัดย่อโครงการวิจัยด้านเอเชียตะวันออกศึกษา

 (งบประมาณแผ่นดิน)

ปีงบประมาณ 2528

 

ชื่อโครงการวิจัย                        พัฒนาการด้านจีนศึกษาในประเทศไทย ค.. 1970-1988

ผู้ทำวิจัย                                   รศ.ดร.จุลชีพ  ชินวรรโณ

จำนวน                                     165   หน้า

 บทคัดย่อภาษาไทย

 

          จีนศึกษา   หรือการศึกษาเกี่ยวกับประเทศจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทวีความสำคัญ  และได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในวงวิชาการในประเทศไทยทั้งนี้เป็นเพราะสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่เพียงแต่เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกหรือมีขนาดใหญ่มาก อีกทั้งยังมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมกับประเทศไทย ตลอดจนประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมาตั้งแต่  .. 1975 หรือ พ.. 2518 ยิ่งไปกว่านั้น จีนในปัจจุบันได้ทวีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาครวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          การวิจัยเกี่ยวกับ    "จีนศึกษาในประเทศไทย"    นี้มุ่งวิเคราะห์การพัฒนาการของความรู้และสถานภาพของความรู้เกี่ยวกับจีนศึกษาในปัจจุบัน    ทั้งในด้านหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท  ตลอดจนกิจกรรมวิชาการต่างๆ  ทั้งที่เป็นงานวิจัย งานเขียนตำรา หนังสือ บทความวิชาการ และการจัดสัมมนา อภิปรายทางวิชาการ เพื่อให้ทราบถึงสภาพทิศทางและปัญหาตลอดจนแนวโน้มอันจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทางและนโยบายในการศึกษาวิจัยและเพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับจีนให้รอบด้านและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

          การวิจัยเกี่ยวกับ "จีนศึกษาในประเทศไทย" นี้ จะเน้นเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1970 คือ ตั้งแต่ ค..  1971 จนถึง ค.. 1984 (.. 2514-2527) โดยพิจารณาวิเคราะห์ลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่เกี่ยวกับจีนในมหาวิทยาลัยของรัฐเท่านั้น       การวิจัยนี้จะเป็นการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) โดยจะวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรจากคู่มือการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ตลอดจนงานเขียน งานวิจัย ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและหนังสือต่างๆ

          ความสนใจเกี่ยวกับจีนในประเทศไทยได้มีมานานแล้ว  แต่การศึกษาเกี่ยวกับจีนในเชิงวิชาการได้เพิ่งมีขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมๆ กับการพัฒนาของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย การศึกษาเกี่ยวกับจีนในอดีตเป็นไปด้วยความยากลำบากและมักถูกกระทบกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านการ เมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศ

          พัฒนาการของจีนศึกษาในประเทศไทยอาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นช่วงก่อนทศวรรษที่ 1970 คือ ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึง ค.. 1970 (หรือ พ.. 2513) การเรียนการสอนเกี่ยวกับจีนมีอุปสรรคมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและยึดอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ การสอนเกี่ยวกับจีนในช่วงนี้มักเน้นความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากกว่าการเมืองและนโยบายต่างประเทศโดยผู้สอนมักสอนจีนรวมกับญี่ปุ่นและเกาหลี  ในวิชาที่เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกในช่วงที่สอง  ระหว่าง  ค.. 1971-1975 (.. 2514-2518) เป็นช่วงที่การศึกษาเกี่ยวกับจีนเฟื่องฟูมาก มีนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจจีนโดยเฉพาะ (specialists) และได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ ทั้งที่เป็นหนังสือและบทความ ทำให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับจีนดีขึ้น อีกทั้งบรรยากาศทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในหรือภายนอกก็ช่วยเกื้อหนุนต่อการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับจีนในด้านต่างๆ ส่วนในช่วงที่สาม เป็นช่วงหลัง ค.. 1975 (.. 2518) จนถึงปัจจุบัน ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.. 2518  การศึกษาเกี่ยวกับจีนอย่างเป็นทางการในวันที่  1 กรกฎาคม พ.. 2518 การศึกษาเกี่ยวกับจีนในช่วงนี้ขยายตัวมากขึ้น มีนักวิชาการและคนไทยอาชีพต่างๆ ไปเยือนจีนและเขียนหนังสือเกี่ยวกับจีนมาก ทำให้ความรู้เกี่ยวกับจีนเพิ่มมากขึ้น

          ส่วนในด้านการเรียนการสอนนั้น    ได้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนวิชาที่เกี่ยวกับจีนในระดับปริญญาตรี  มีรวมทั้งสิ้น  212  วิชา  ในสาขาต่างๆ  รวมทั้งประวัติศาสตร์   การเมือง  เศรษฐกิจ  ภาษา วรรณคดี และวัฒนธรรม ส่วนในระดับปริญญาโท มีอยู่เพียง 2 สาขา คือ           รัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ โดยมีวิชาที่เกี่ยวกับจีนประมาณ  12  วิชา ในด้านการวิจัย งานวิจัยเกี่ยวกับจีนมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโท

          ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้จัดตั้งสถาบันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจีนขึ้น  เช่น  ใน พ.. 2527 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    ได้จัดตั้งสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาขึ้น  เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี นับเป็นสถาบันวิชาการระดับคณะแห่งแรกในประเทศไทยที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับจีน ต่อมาใน พ.. 2528 สถาบันเอเชียศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.. 2510  ในฐานะหน่วยงานของภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เปลี่ยนฐานะเป็นสถาบันวิจัยเทียบเท่าคณะ  โดยมีจุดประสงค์ที่จะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับจีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ  ใน        เอเชีย  การจัดตั้งสถาบันทั้งสองคงจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการแสวงหาความรู้ การค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับจีนต่อไปในอนาคต

          โดยทั่วๆ   ไป  แม้ว่าพัฒนาการของจีนศึกษาในช่วง  15  ปีที่ผ่านมาจะมีส่วนช่วยให้องค์ความรู้ (Body of knowledge) ที่เกี่ยวกับจีนเพิ่มมากขึ้น แต่การศึกษาเกี่ยวกับจีนก็ยังไม่ "รอบด้าน" และ "ลึกซึ้ง" เพราะยังมีอุปสรรคและปัญหาอีกหลายประการ เช่น การขาดนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีนศึกษาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสังคมและวัฒนธรรม การขาดแคลนตำราและหนังสือเกี่ยวกับจีนที่ลึกซึ้งและทันสมัยในเกือบทุกด้าน  ส่วนผลงานวิจัยเกี่ยวกับจีนก็ยังมีอยู่น้อย  ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการขาดเงินทุนอุดหนุน  นอกจากนั้นในด้านการเรียนการสอนยังมีปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนของหลักสูตรและความลำบากในการศึกษาเกี่ยวกับจีนในเชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary)

          การพัฒนาจีนศึกษาในอนาคตน่าจะมีเป้าหมายในการเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับจีนให้ "รอบด้าน" และ "ลึกซึ้ง"   ยิ่งขึ้น   โดยกำหนดทิศทางให้ชัดเจน  เช่น  การสร้างผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีนในสาขาที่ขาดแคลนโดยพยายามหาทุนการศึกษาหรือทุนฝึกอบรมระยะสั้น ตลอดจนทุนอุดหนุนในการวิจัยและพัฒนาตำราและหนังสือวิชาที่เกี่ยวกับจีนในด้านต่างๆ   ยิ่งไปกว่านั้นควรมีการ   "ระดมสมอง เพื่อพัฒนาหลักสูตรวิชาที่เกี่ยวกับจีน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและสร้างลักษณะ "สหวิทยาการอีกทั้งควรขยายการเผยแพร่ความรู้ในรูปการอภิปราย บรรยาย สัมมนา  หรือการอบรมพิเศษให้มากขึ้น  ควรมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับจีน  และที่สำคัญที่สุด คือน่าจะมีการ ร่วมมือและประสานงานระหว่างสถาบันวิชาการในประเทศและต่างประเทศ ในการทำกิจกรรมวิชาการบางอย่างร่วมกัน

          การพัฒนาจีนศึกษาในทิศทางดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับจีนแต่จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย

 

 

                                 

 

หน่วยบริการวิจัย  สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 99 หมู่ 18 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12121

โทร. 0-2564-5000-3 โทรสาร 0-25645-4888 E-mail:ieas@asia.tu.ac.th